ค่าใช้จ่าย ที่ต้องเตรียมก่อนซื้อบ้าน

      ถ้าพูดถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมก่อนซื้อบ้าน หลายคนคงมองเรื่องราคาบ้าน ค่าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านเป็นหลัก แต่ทราบหรือไม่ การซื้อบ้านหนึ่งหลังมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งถ้าเราศึกษาและเตรียมความพร้อมไว้แต่เริ่ม จะทำให้สามารถคำนวนค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมก่อนซื้อบ้านได้ดียิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงเรื่องเงินสำรองไม่พอ แถมยังทำให้เราสามารถคำนวนราคาบ้านที่เราสามารถซื้อไหวได้อีกด้วย วันนี้ #คุยเรื่องบ้านกับพีบีเอ จะพาทุกท่านไปดูว่า ซื้อบ้านหนึ่งหลัง มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ต้องเตรียม พร้อมวิธีคำนวนแบบง่าย ๆ ที่สามารถทำตามได้กันทุกคนแน่นอน


1. ค่าใช้จ่ายก่อนโอนกรรมสิทธิ์
          เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายก่อนการโอนกรรมสิทธิ์ มักเป็นค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันจองบ้านไปจนถึงวันที่โอมกรรมสิทธิ์ แบ่งออกเป็น 5 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

        1.1. ค่าจองและทำสัญญา (ค่ามัดจำ) ส่วนใหญ่อยู่ที่ 5 – 20%  ของราคาบ้านที่ซื้อขาย (ประมาณ 5,000 – 50,000 บาท ขึ้นอยู่กับโปรโมชันต่าง ๆ ของแต่ละโครงการ) เพื่อเป็นการแสดงความสนใจที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ และเป็นหลักประกันในเรื่องต่าง ๆ เช่น หากผู้ซื้อไม่ทำตามเงื่อนไข ทางโครงการมีสิทธิ์ริบเงินตามจำนวนที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา
          1.2. เงินผ่อนดาวน์ เป็นเงินที่ผู้ซื้อต้องทำการผ่อนดาวน์ให้กับโครงการตามเงื่อนไข (ในกรณีที่บ้านยังไม่แล้วเสร็จ) ในส่วนนี้หากผู้ซื้อสามารถผ่อนดาวน์ได้มาก จะทำให้จำนวนที่ต้องยื่นสินเชื่อลดลง ดอกเบี้ยและจำนวนที่ต้องผ่อนกับธนาคารก็จะลดลงไปด้วย ซึ่งเป็นผลดีกับผู้ซื้อเอง เพราะจำนวนเงินผ่อนดาวน์กับทางโครงการเป็นเงินต้น 100% ไม่มีดอกเบี้ย
          1.3. ค่าประเมินราคาเมื่อขอสินเชื่อ การอนุมัติกู้ซื้อบ้าน จะต้องผ่านการประเมินจากทางธนาคาร ซึ่งการประเมินมีค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 1,000 – 5,000 บาท ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร
          1.4. ค่าจดจำนอง ในกรณีซื้อสด เราจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เป็นค่าใช้จ่ายที่ธนาคารเรียกเก็บเพื่อจดจำนองบ้านให้กับธนาคาร โดยส่วนมากจะอยู่ที่ประมาณ 1% ของราคาบ้าน
          1.5. ค่าโอนกรรมสิทธิ์ เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับกรมที่ดินเพื่อโอนกรรมสิทธิ์บ้านจากเจ้าของเดิมมาเป็นชื่อของผู้ซื้อ คิดเป็น 2% ของราคาประเมินสิ่งปลูกสร้าง และแบ่งกันจ่ายคนละ 1% ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย  ซึ่งอาจมีกรณีที่ผู้ขายเป็นบุคลธรรมดา เสนอเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมโอนบ้านทั้งหมด หรือกรณีอื่น ๆ ตามตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย

 

2. ค่าใช้จ่ายหลังโอนกรรมสิทธิ์
     
          เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อต้องจ่ายหลังจากโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว แบ่งออกเป็น 4 ข้อ ดังนี้
               2.1. ค่ามิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้า
เป็นค่าติดตั้งมิเตอร์น้ำและมิเตอร์ไฟฟ้า เป็นค่าใช้จ่ายให้กับการประปาและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
               2.2. ค่าส่วนกลาง (ถ้ามี)
ค่าบำรุงรักษาส่วนกลางและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในโครงการ เช่น ค่าระบบรักษาความปลอดภัย ค่าน้ำ-ค่าไฟ ส่วนกลาง เงินเดือนแม่บ้าน ค่าใช้จ่ายในการดูแลสวน เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเก็บเป็นรายปี
               2.3. งบเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
อีกหนึ่งค่าใช้จ่ายจำเป็นเพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับการอยู่อาศัย
               2.4. งบตกแต่งบ้าน
สำหรับการตกแต่งและต่อเติมบ้านเพิ่มในบางกรณี
               2.5. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
เช่น ค่าตกแต่งสวน เป็นต้น

หมายเหตุ : ในปี พ.ศ. 2567 ภาครัฐมีมาตรการรัฐลดค่าโอนกรรมสิทธิ์ – จดจำนอง สำหรับค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ปี 2567 แบ่งออกเป็น

        • ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 0.01%
        • ลดค่าจดทะเบียนการจำนอง อสังหาริมทรัพย์จาก 1% เหลือ 0.01%

         สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ที่จดทะเบียนโอนในคราวเดียวกัน ซึ่งราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ต้องไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท ต่อสัญญา ไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน โดยผู้ซื้อที่เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย มาตรการนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม 2567

การคำนวนค่าใช้จ่ายก่อนซื้อบ้านเบื้องต้น
          ยกตัวอย่าง : นายต้าต้องการซื้อทาวน์โฮมบาว่า ราคา 4.99 ล้านบาท ผ่อนดาวน์ 20% เหลือเงินกู้ 3.99 ล้านบาท ผ่อน 30 ปี ดอกเบี้ย 5%

คำนวนค่าใช้จ่ายดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
        จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า นอกจากราคาบ้านที่เราต้องจ่ายแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่ควรมองข้ามเช่นเดียวกัน การคำนวนค่าใช้จ่ายให้ดีตั้งแต่เบื้องต้น จะทำให้เราสามารถคำนวนงบประมาณต่าง ๆ ไม่ให้บานปลาย และไม่เกิดยอดค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากที่วางแผนเอาไว้ นอกจากนี้ ควรวางแผนการผ่อนชำระให้เหมาะสมกับรายได้ของตัวเอง เพื่อไม่ให้เป็นภาระมากเกินไป

แชร์บทความนี้