เคล็ดลับดูแลบ้านหน้าฝน ฉบับมือโปร​

เคล็ดลับดูแลบ้านหน้าฝน ฉบับมือโปร

          ช่วงหน้าฝนแบบนี้ หลาย ๆ คนก็อาจจะพบเจอปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยคอยกวนใจ ไม่ว่าจะเป็นน้ำรั่ว น้ำซึม รางน้ำฝนหรือรางระบายน้ำอุดตัน รวมไปถึงปัญหา ไฟช็อต ไฟดับ และปัญหาภายในบ้านอื่น ๆ ที่มาพร้อมกับพายุฝนฟ้าคะนอง ทำให้เกิดความรู้สึกกังวลอยู่บ่อย ๆ จะดีกว่าไหม? ถ้าเราเตรียมตัวดูแลบ้านในช่วงหน้าฝนตั้งแต่เนิ่น ๆ #คุยเรื่องบ้านกับพีบีเอ ขอเอาใจคนรักบ้าน แชร์เคล็ดลับดูแลหน้าฝน ฉบับมือโปร ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง ไปดูกันเลย

1. เช็ก หลังคา ฝ้า ผนัง ให้ดี เพราะอาจมีรอยรั่วซึม
          ปัญหาใหญ่ ๆ ในช่วงหน้าฝน คือปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาในบ้าน โดยส่วนใหญ่จะรั่วซึมจาก 3 จุดหลัก ได้แก่ หลังคา ฝ้า ผนัง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมักจะทราบเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้นเราควรหมั่นสังเกต รอยแตกร้าว หรือรอยต่อของวัสดุ ว่ามีคราบน้ำซึมหรือไม่ หาพบเจอควรติดต่อช่างให้เข้ามาซ่อมแซมดูแลโดยเร็วที่สุด เพราะถ้าปล่อยไว้อาจทำให้เกิดปัญหาน้ำรั่ว น้ำซึม และอาจสร้างความเสียหายลามไปส่วนอื่น ๆ ภายในบ้านได้

2. ทำความสะอาดบริเวณพื้นทางเดิน ชาน ระเบียง
          ช่วงหน้าฝนเรามักจะพบคราบตะไคร่สีเขียวเกาะติดอยู่บนพื้น รวมไปถึงคราบดินโคลนที่มักติดมาพร้อมรองเท้าอยู่บ่อย ๆ ซึ่งปล่อยไว้นอกจากจะทำให้เกิดคราบฝังแน่นแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุแก่บุคคลในครอบครัวได้อีกด้วย จึงควรหมั่นตรวจเช็กว่ามีตะไคร่น้ำหรือเชื้อราบริเวณพื้นทางเดิน ชาน ระเบียงบ้านหรือไม่ ถ้ามีให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อราและน้ำยากำจัดตะไคร่น้ำสูตรน้ำ ก่อนจะนำแปรงมาขัดล้างออกให้สะอาด

3. ทำความสะอาดรางน้ำฝน / รางระบายน้ำ
          หลายคนอาจเคยเจอปัญหาน้ำไหลย้อนเข้าตัวบ้านทางรางน้ำฝน เนื่องด้วยรางน้ำฝน / รางระบายน้ำอุดตัน สาเหตุจากสิ่งสกปรกเข้าไปขวางการไหลของน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ การทำความสะอาดรางน้ำฝน / รางระบายน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยไว้ อาจทำให้น้ำเข้าไปรั่วซึมหรือท่วมขังในตัวบ้าน  จนเป็นเหตุให้โครงสร้างส่วนนอกเปียกชื้น โดยเฉพาะส่วนฐานรากของตัวบ้านที่จะดูดซับความชื้นจากใต้ดิน ก็อาจเกิดความเสียหายได้

4. หมั่นตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่ใกล้ตัวบ้าน
        อีกหนึ่งสิ่งที่ควรหมั่นสังเกต คือ มีต้นไม้ใหญ่ที่อยู่บริเวณใกล้บ้านหรือไม่ เพราะถ้าเกิดพายุรุนแรง ต้นไม้ใหญ่เหล่านั้นอาจหักโค่น สร้างความเสียหายมาที่บ้านของเราได้ จึงควรหมั่นตัดแต่งกิ่งไม้ที่อาจทำให้เกิดอันตราย และดูแลไม่ให้พุ่มไม้หนาบริเวณบ้านจนเกินไป จนทำให้เกิดน้ำขัง เป็นแหล่งสะสมเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมถึงเป็นที่ซ่อนของสัตว์มีพิษ

5. คอยเช็กปลั๊กไฟ โคมไฟ กลางแจ้ง
      สำหรับบ้านหลังไหนที่มีความจำเป็นต้องต่อปลั๊กไฟออกไปนอกตัวบ้าน ควรยกปลั๊กสูงจากพื้นบ้านและระดับที่น้ำท่วมถึง รวมถึงคอยตรวจเช็กระบบไฟฟ้าว่ามีการรั่วของไฟหรือไม่ รวมถึงควรใช้ปลั๊กไฟที่มีฝาปิดครอบเพื่อป้องกันละอองน้ำฝน จนทำให้เกิดไฟช็อต และก่อให้เกิดอันตราย

6. จัดการสัตว์ร้าย แมลงกวนใจ
      อีกหนึ่งสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในช่วงหน้าฝนคือเหล่าบรรดาสัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หนู แมลงสาบ ตะขาบ ไปจนถึงเหล่าสัตว์มีพิษที่อาจโผล่มากวนใจ ถ้าเราสามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ย่อมส่งผลดีมากกว่าผลเสีย รวมถึงทำให้บ้านของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เช่น การโรยแป้งเด็ก หรือใช้น้ำส้มสายชูผสมน้ำเปล่าฉีดพ่นที่มด หรือการใช้ผงปูนขาวโรยตามทาง วางสบู่ก้อนบริเวณตามท่อเพื่อป้องกันตะขาบ เท่านี้ก็ช่วยลดปัญหาแมลงหรือสัตย์กวนใจในช่วงหน้าฝนได้แล้ว

7. ต่อเติมกันสาดหรือชายคา
      หากมีส่วนใดที่น้ำฝนสามารถสาดเข้าบ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของประตู หน้าต่าง ผนังบ้าน ควรต่อเติมกันสาดหรือชายคาบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ฝนทำให้น้ำกัดเซาะบริเวณนั้นจนเกิดการผุผัง คราบเชื้อรา และคราบตระใคร่น้ำเกาะติดบริเวณดังกล่าว

    แชร์บทความนี้