ลงลึกเสาเข็มหน้าบ้าน- หลังบ้าน

ลงลึกเสาเข็มหน้าบ้าน-หลังบ้าน เรื่องสำคัญที่คนซื้อบ้านต้องรู้

          การซื้อบ้านจัดสรรในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านใหม่ หรือบ้านมือสอง สิ่งหนึ่งที่ตามมาหลังจากการเป็นเจ้าของ คือการต่อเติมบ้านที่มักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการต่อเติมครัว พื้นที่โรงจอดรถ กั้นห้อง และอีกหลากหลายตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย ปัจจัยหลักที่ไม่ควรมองข้าม สำหรับคนที่กำลังวางแผนซื้อบ้าน คือเรื่องของ เสาเข็ม ที่ทำหน้าที่รับน้ำหนัก แล้วเสาเข็มมีความสำคัญอย่างไร? ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนซื้อบ้านต้องรู้ วันนี้ #คุยเรื่องบ้านกับพีบีเอ ชวนมาลงลึกเรื่องการลงเสาเข็มหน้าบ้าน-หลังบ้าน 

 

เสาเข็มมีกี่ประเภท และมีความสำคัญอย่างไร?

          เสาเข็ม คือ สิ่งที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักของบ้าน แบกรับน้ำหนักจากเสาและถ่ายเทน้ำหนักไปสู่เสาเข็ม เป็นส่วนประกอบที่อยู่ชั้นใต้สุดของอาคาร มีลักษณะเป็นท่อนฝังในดินเชื่อมต่อกับฐานราก ซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนที่อยู่ใต้ผิวดิน หากไม่มีเสาเข็มก็เปรียบเสมือนบ้านที่ตั้งอยู่บนดินเฉย ๆ ทำให้บ้านทรุดตัวลงเรื่อย ๆ เพราะน้ำหนักของตัวบ้านจะกดลงบนผิวดิน แต่ถ้าบ้านมีเสาเข็มช่วยรองรับน้ำหนัก จะช่วยให้เกิดแรงต้านของน้ำหนัก ซึ่งชะลอตัวการทรุดตัวของบ้านลงได้

 

          โดยเสาเข็มมีทั้งหมด 2 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน ได้แก่

          ◾แบ่งตามกรรมวิธีการผลิต แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
               1.
เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง โครงสร้างภายในทำมาจากปูนซีเมนต์ชนิดแข็งตัวเร็ว และโครงเหล็กที่ทำจากลวดเหล็กอัดแรงกำลังสูง เป็นเสาเข็มที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีคุณสมบัติคงทน ไม่แตกร้าวง่าย เหมาะสำหรับอาคารพาณิชย์และบ้านพักอาศัยทั่วไป กรรมวิธีการลงเสาเข็มไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และประหยัดค่าใช้จ่าย  
               2. เสาเข็มหล่อในที่ ทั่วไปเรียกกันว่าเสาเข็มเจาะ มีกรรมวิธีในการทำไม่ยุ่งยากซับซ้อน และจะต้องทำในสถานที่ใช้งานจริง
               3. เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยงอัดแรง หรือชื่อเรียกทั่วไปคือ เสาเข็มสปัน เป็นเสาเข็มที่มีความแข็งแกร่งสูง ผลิตโดยใช้คอนกรีตปั่นในแบบหล่อด้วยความเร็วสูง เพื่อสร้างมวลความหนาแน่นในเนื้อคอนกรีต ลักษณะของเสาจะเป็นทรงกลม ตรงกลางเป็นรูกลวง มีโครงเหล็กอัดแรงฝังอยู่ในเนื้อผิวคอนกรีต

          ◾แบ่งตามลักษณะการติดตั้ง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
               1. เสาเข็มแบบตอก เป็นวิธีการสร้างดั้งเดิมที่มีมาอย่างยาวนาน มีข้อดีคือ วิธีการนี้สามารถใช้ตอกเสาเข็มได้ทุกประเภท แบ่งย่อยออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แบบทั่วไปและแบบไมโครไพล์ ซึ่งแบบไมโครไพล์จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า
               2.เสาเข็มแบบเจาะ เหมาะสมกับงานก่อสร้างหลายประเภทโดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการลดแรงสั่นสะเทือนและเสียงดัง พื้นที่ที่มีข้อกำจัด เช่น ในเขตชุมชนที่มีอาคารอยู่ติดกัน นิยมสำหรับงานต่อเติมและปรับปรุงรากฐาน แบ่งย่อยได้ 2 ประเภท ได้แก่
                    2.1 เสาเข็มเจาะระบบแห้ง ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไป ในที่เครื่องจักรเข้าถึงไม่ได้
                   
2.2 เสาเข็มเจาะระบบเปียก ส่วนใหญ่ใช้กับการก่อสร้างขนาดใหญ่
               3. เสาเข็มแบบกด ถูกออกแบบมาเพื่อเสริมความสามารถในการรับนํ้าหนักให้กับโครงสร้างที่มีการทรุดตัวและแก้ปัญหาบ้านทรุดโดยเฉพาะ งานเสร็จไว เสียงรบกวนน้อย ใช้พื้นที่ในการทำงานไม่มาก แต่แลกมากับค่าใช้จ่ายที่สูง

 

เสาเข็มรับน้ำหนักได้อย่างไร?
          การรับน้ำหนักตัวบ้านของเสาเข็ม เกิดจากแรงต้าน 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
               1. แรงเสียดทานของชั้นดิน แรงต้านที่เกิดจากแรงเสียดทานระหว่างผิวของเสาเข็มกับดินโดยรอบ
               2.
แรงต้านจากชั้นดินที่ปลายเข็ม จะเกิดขึ้นเมื่อเสาเข็มยาวลึกจนไปสัมผัสและถ่ายน้ำหนักถึงชั้นดินแข็งได้ ทำให้บ้านเกิดอัตราทรุดตัวน้อยลงมาก 

          เช่นนั้นการสร้างบ้านโดยปกติทั่วไป จะให้ความสำคัญกับเรื่องขนาดและความยาวของเสาเข็มเพื่อให้เพียงพอต่อการทำให้เกิดแรงฝืดรอบผิวเสาเข็ม การลงเสาเข็มให้ลึกถึงชั้นดินแข็ง ก็เพื่อให้แรงต้านทั้ง 2 ชนิดช่วยพยุง ให้ตัวบ้านเกิดความมั่นคงแข็งแรง ไม่ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว

ปัญหาการทรุดตัวของบ้าน

          การทรุดตัวของบ้าน คือ การที่โครงสร้างของบ้าน หรือฐานของบ้านทรุดตัวต่ำลงไป ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จาก หลายสาเหตุ แต่กล่าวถึง 2 สาเหตุหลัก ๆ ที่พบได้บ่อย ดังนี้

          1. ปัญหาการทรุดตัวของดินบริเวณรอบตัวบ้าน เนื่องจากดินบริเวณบ้านเกิดการทรุดติดต่อกันหลายปี จนเกิดเป็นโพรงใต้คานคอดิน ทำให้บ้านทรุดได้ 
          2. ปัญหาจากโครงสร้างของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการแตกร้าวของเสาเข็ม โครงสร้างเดิมทำไว้ไม่แข็งแรงมากพอ การต่อเติมบ้านที่มีน้ำหนักเกินจนฐานเดิมไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาบ้านทรุดได้เช่นกัน

          แต่ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยโดยเฉพาะในบ้านจัดสรรที่อยู่ในพื้นที่ กรุงเทพฯ คือ การทรุดตัวที่ไม่เท่ากันของตัวบ้าน อันเกิดจากเสาเข็มตัวบ้าน และเสาเข็มในส่วนต่อเติมหน้าบ้าน-หลังบ้าน มีการลงเสาเข็มที่มีความลึกไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ บ้านที่ลงเสาเข็มเท่ากันทั้งตัวบ้าน เวลาทรุดตัวจะทรุดลงพร้อมกันตามกาลเวลา แต่ในส่วนของบ้านที่ลงเสาเข็มไม่เท่ากันทั้งตัวบ้าน เวลาเกิดการทรุดตัว จะทำให้ทรุดตัวลงเป็นส่วน ๆ จนทำให้บ้านเกิดรอยร้าว บ้านเอียง และโครงสร้างเสียหาย หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รีบทำการแก้ไขอาจทำให้บ้านพังได้ ดังรูปตัวอย่างด้านล่าง

กรณีของบ้านจัดสรร : ความสำคัญของการลงเสาเข็มหน้าบ้าน-หลังบ้าน

          ในกรณีของบ้านจัดสรร ส่วนใหญ่ที่เกิดการทรุดตัวจะเป็นในส่วนการต่อเติมพื้นที่ครัวด้านหลัง และพื้นที่จอดรถด้านหน้าบ้าน คำถามที่ตามมาคือ ส่วนต่อเติมของบ้านจัดสรรทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านควรลงเสาเข็มลึกไปถึงชั้นดินแข็งหรือความลึกเท่ากับตัวบ้านหรือไม่? ซึ่งโดยทฤษฎีแล้วการลงเสาเข็มให้ลึกถึงชั้นดินแข็ง (ประมาณ 17 – 23 เมตร) ย่อมแข็งแรงทนทาน และดีกว่าแน่นอน แต่ในทางปฏิบัติก็มักจะมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ เพราะการลงเสาเข็มให้ลึกถึงชั้นดินแข็ง ต้องอาศัยพื้นที่ที่มากและเครื่องมือขนาดใหญ่ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้บ้านจัดสรรบางโครงการมักจะใช้เสาเข็มขนาดความยาวไม่เกิน 6 เมตร จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านต้องยอมรับการทรุดตัวของส่วนต่อเติมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 

         บริษัท พีบีเอ เอสเตท จำกัด และบริษัท อาร์พี แอสเสท จำกัด เราให้ความสำคัญถึงการอยู่อาศัยที่ยั่งยืน คิดมาอย่างดีเพื่อให้ทุกตารางนิ้วของบ้าน สร้างความสุขให้แก่ลูกบ้านทุกหลังอย่างมั่นคง ลงเสาเข็มให้ทั้งหน้าบ้าน-หลังบ้าน ลึกเท่าตัวบ้าน ทั้งโครงการ บาว่า กัลปพฤกษ์-สาทร และ โครงการ อวาน่า ประชาอุทิศ 90 สามารถต่อเติมได้อย่างปลอดภัย หมดกังวลเรื่องการทรุดตัวของบ้านกวนใจในระยะยาว

แชร์บทความนี้